Category Archives: อำเภออรัญประเทศ
อำเภออรัญประเทศ
อำเภออรัญประเทศ เป็นอำเภอชายแดนทางด้านตะวันออกของประเทศไทย ห่างจากอำเภอเมืองสระแก้ว 52 กิโลเมตร มีแนวชายแดนติดต่อกับเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา เดิมเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกบินทร์บุรี จนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2468 อำเภอก็ถูกยุบรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นมาใหม่[1]เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 และเป็นอำเภอที่มีความเจริญมากกว่า อำเภอเมืองสระแก้ว เนื่องจากเป็นเมืองติดชายแดนและมีโครงสร้างคมนาคมที่กว้างขวางสามารถขยายเมืองได้มากกว่าอำเภอเมืองสระแก้ว
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]
อำเภออรัญประเทศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวัฒนานครและอำเภอโคกสูง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา
- ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชาและอำเภอคลองหาด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอคลองหาดและอำเภอวัฒนานคร
ประวัติ
[แก้]
อำเภออรัญประเทศ เดิมชื่อ บ้านหินแร่ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น เมืองอรัญประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เมื่อ พ.ศ. 2393 ได้รับเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นอำเภอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 มีขุนเหี้ยมใจหาญเป็นนายอำเภอ โดยยุบวัฒนานครเดิมชื่อบ้านแขยกเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภออรัญประเทศ
เดิมเชื่อกันว่าแท้จริงแล้วชาวอรัญประเทศเป็นกลุ่มไทยย้อชาวเวียงจันทน์หรือท่าอุเทนที่อพยพมา หลังจากเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวย้อได้อพยพมาอยู่ที่ดงอรัญ เขตบ้านสวาย (ต่อมายกขึ้นเป็นเมืองศรีโสภณ) ขณะนั้นกัมพูชาเป็นประเทศราชของสยาม ภายหลังโยกย้ายเข้ามาในเขตอำเภออรัญประเทศ ที่ตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตตำบลคลองน้ำใส ตำบลเมืองไผ่ ตำบลท่าข้าม ตำบลผ่านศึก และในเขตเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ ยกเว้นในตลาดอำเภออรัญประเทศ
พื้นที่อำเภออรัญประเทศมีถนนโบราณสายหนึ่งตัดผ่านจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทางทิศเหนือหมู่บ้านอรัญประมาณ 400 เมตร มีคนเล่าต่อกันมาว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้สร้างไว้ ต่อมาจึงมีผู้ตั้งชื่อว่า ถนนเจ้าพระยาบดินทรเดชา สันนิษฐานว่า สถานีอรัญประเทศ เป็นจุดปลายทางของรถไฟสายตะวันออกซึ่งสร้างลงบน “ฉนวนไทย” หรือทางราบที่ใช้ติดต่อระหว่างที่ราบลุ่มเจ้าพระยากับที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรมาแต่โบราณ เส้นทางรถไฟจากปราจีนบุรีจนถึงอรัญประเทศน่าจะซ้อนทับลงบนทางเดินบกโบราณจากภาคกลางของไทยไปสู่ที่ราบลุ่มทะเลสาบของเขมรที่เรียกกันว่า ฉนวนไทย มีแหล่งโบราณคดีใหญ่น้อยกระจายตัวกันตามลำน้ำอันเป็นต้นสายแม่น้ำบางปะกงคือแควหนุมานกับแควพระปรง และยังมีด่านพระจารึก ซึ่งปรากฏชื่อในเอกสารพงศาวดารสมัยอยุธยาว่าเป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์บนเส้นทางสายนี้ด้วย
ดังนั้น เส้นทางรถไฟจากชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีต่อไปจนถึงศรีโสภณ พระตะบอง จึงน่าจะสร้างลงบนทางเดินโบราณนี้ด้วยเช่นกัน เจ้าพระยาบดินทรเดชาคงสร้างขึ้นเมื่อคราวยกทัพกลับจากตีเขมรและญวน
อำเภออรัญประเทศได้ยกฐานะขึ้นจากกิ่งอำเภออรัญประเทศในปี พ.ศ. 2456 อาชีพหลักของคนในอำเภออรัญประเทศแต่เดิมได้แก่ การค้าขายและเกษตรกรรม โดยในอดีตนิยมปลูกข้าว และมันสำปะหลัง ปัจจุบันนิยมปลูกอ้อยเพื่อส่งโรงงาน และเป็นแหล่งส่งเสริมการปลูกแคนตาลูปเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จประพาสไซ่ง่อน เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอำเภออรัญประเทศ ได้ประทับบนสถานีรถไฟอรัญประเทศประมาณ 30 นาที แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับรถไฟขบวนพิเศษจากอรัญประเทศเข้าพระนคร ในครั้งยังเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จจึงมีเฉพาะชาวอรัญเท่านั้น เนื่องจากการคมนาคมยังไม่สะดวก การติดต่อข่าวสารยังล่าช้า
พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดหลวงอรัญญ์ อำเภออรัญประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนกระทั่งเวลา 12.00 น. โดยประมาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากค่ายสุรสิงหนาทถึงยังหน้าพระอุโบสถ ทรงถวายผ้าพระกฐิน มีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จชมพระบารมีนับหมื่น หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จต่อไปยังนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสในเวลาประมาณ 13.30 น.
- วันที่ 2 พฤศจิกายน 2456 ย้ายที่ว่าการอำเภอวัฒนา ไปตั้งที่กิ่งอำเภออรัญ และเปลี่ยนนามอำเภอว่า อำเภออรัญประเทศ และกิ่งอำเภออรัญ ให้ย้ายมาตั้งที่อำเภอวัฒนาเก่า และจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอวัฒนา ขึ้นการปกครองกับอำเภออรัญประเทศ[2]
- วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2470 ยุบตำบลหนองแวง และแยกเอาหมู่บ้านไปรวมขึ้นกับตำบลโคกสูง และตำบลตาพระยา[3]
- วันที่ 30 กันยายน 2482 จัดตั้งเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ ในท้องที่ตำบลอรัญญประเทศ[4]
- วันที่ 3 ตุลาคม 2493 เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ ตามความจำเป็นแห่งการบริหารงานของเทศบาล[5]
- วันที่ 31 ตุลาคม 2493 เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลอรัญญประเทศให้เล็กลง ส่วนหมู่บ้านในเขตตำบลอรัญประเทศ ที่อยู่นอกเขตเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ นำมาตั้งเป็นตำบลใหม่สองตำบล คือ ตำบลเมืองไผ่ และตำบลท่าข้าม แยกออกจากตำบลอรัญญประเทศ[6]
- วันที่ 3 เมษายน 2494 โอนพื้นที่ตำบลหันทราย กิ่งอำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญญประเทศ ไปขึ้นกับ อำเภออรัญญประเทศ[7]
- วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญญประเทศ เป็น อำเภอวัฒนานคร[8]
- วันที่ 10 พฤศจิกายน 2502 แยกพื้นที่ตำบลตาพระยา และตำบลโคกสูง อำเภออรัญญประเทศ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอตาพระยา ขึ้นกับอำเภออรัญญประเทศ[9]
- วันที่ 16 กรกฎาคม 2506 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอตาพระยา อำเภออรัญญประเทศ เป็น อำเภอตาพระยา[10]
- วันที่ 3 ตุลาคม 2512 จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภออรัญประเทศ[11]
- วันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ตั้งตำบลทับพริก แยกออกจากตำบลคลองน้ำใส และตั้งตำบลป่าไร่ แยกออกจากตำบลท่าข้าม[12]
- วันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 ตั้งตำบลบ้านใหม่หนองไทร แยกออกจากตำบลเมืองไผ่ และตั้งตำบลผ่านศึก แยกออกจากตำบลคลองน้ำใส[13]
- วันที่ 17 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลคลองทับจันทร์ แยกออกจากตำบลเมืองไผ่ และตั้งตำบลหนองสังข์ แยกออกจากตำบลหันทราย[14]
- วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ตั้งตำบลฟากห้วย แยกออกจากตำบลท่าข้าม [15]
- วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลบ้านด่าน แยกออกจากตำบลบ้านใหม่หนองไทร[16]
- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ยกฐานะจากเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ เป็นเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ[17]
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]
สภาพภูมิอากาศแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล
- ฤดูร้อน เริ่มต้นแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนมกราคม
อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27.5-28.78 องศาเซลเซียส
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]
อำเภออรัญประเทศแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ตำบล 114 หมู่บ้าน
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2567)[18] |
---|---|---|---|
1. | อรัญประเทศ | Aranyaprathet |
17,876
|
2. | เมืองไผ่ | Mueang Phai |
4,548
|
3. | หันทราย | Han Sai |
5,801
|
4. | คลองน้ำใส | Khlong Nam Sai |
5,789
|
5. | ท่าข้าม | Tha Kham |
5,327
|
6. | ป่าไร่ | Pa Rai |
7,150
|
7. | ทับพริก | Thap Phrik |
3,784
|
8. | บ้านใหม่หนองไทร | Ban Mai Nong Sai |
10,471
|
9. | ผ่านศึก | Phan Suek |
6,862
|
10. | หนองสังข์ | Nong Sang |
7,548
|
11. | คลองทับจันทร์ | Khlong Thap Chan |
4,989
|
12. | ฟากห้วย | Fak Huai |
7,758
|
13. | บ้านด่าน | Ban Dan |
5,298
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]
ท้องที่อำเภออรัญประเทศประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองอรัญญประเทศ[19] ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอรัญประเทศทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลฟากห้วย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฟากห้วยทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบ้านด่าน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านด่านทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลป่าไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าไร่ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบ้านใหม่หนองไทร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านใหม่หนองไทรทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองไผ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองไผ่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหันทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหันทรายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำใส ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองน้ำใสทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทับพริกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลผ่านศึกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสังข์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองสังข์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองทับจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองทับจันทร์ทั้งตำบล