Category Archives: อำเภอบ้านแพ้ว
อำเภอบ้านแพ้ว
อำเภอบ้านแพ้ว เป็นอำเภอหนึ่งในสามของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบริมฝั่งคลองดำเนินสะดวกที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เป็นอำเภอที่มีศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืช ผัก ผลไม้ กุ้ง ปลาสลิด ที่หลากหลายอันเลื่องชื่อจนถือเป็นเอกลักษณ์ของดีของเด่น ของอำเภอบ้านแพ้วที่รู้จักกันมาช้านาน ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของอำเภอ ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง มะนาว องุ่น ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น และเป็นที่ตั้งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดราษฎร์ศรัทธาธรรมกะยาราม

ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]
อำเภอบ้านแพ้วมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสามพราน (จังหวัดนครปฐม)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอกระทุ่มแบน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม (จังหวัดสมุทรสงคราม)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวกและอำเภอบางแพ (จังหวัดราชบุรี)
ประวัติศาสตร์
[แก้]
คำว่า “บ้านแพ้ว” มีที่มาจากสัญลักษณ์ของคนยุคก่อนในสมัยที่พื้นที่อำเภอบ้านแพ้วมีสภาพเป็นป่าทึบชายทะเล อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่า ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และไม้นานาชนิด ทำให้มีผู้คนบริเวณใกล้เคียงเดินทางเข้ามาล่าสัตว์และแสวงหาผลิตผลจากป่าเพื่อดำรงชีวิต ด้วยเหตุที่พื้นที่ดังกล่าวมีบริเวณกว้างและมีลำธารธรรมชาติมาก ที่สำคัญได้แก่บริเวณคลองหมู่ทอดและคลองแพ้ว จึงกลายเป็นแหล่งนัดพบของประชาชน ซึ่งจะหาไม้ไผ่หรือต้นไม้สูงแล้วนำผ้าไปผูกไว้ (เรียกว่า แพ้วธง) เพื่อป้องกันการหลงทางและเป็นจุดนัดพบ จนกระทั่งประชาชนอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้นจึงเรียกชื่อชุมชนว่า “หมู่บ้านแพ้ว” เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอสามพราน ตั้งขึ้นเป็นตำบลในนาม “ตำบลแพ้ว”[1][2] ต่อมาเรียกว่าตำบลบ้านแพ้ว และมีพื้นที่ใกล้เคียงคือ ตำบลเจ็ดริ้ว[3][4] ตำบลคลองตัน[5][6][7] และตำบลดอนไผ่[1][2] อำเภอตลาดใหม่ (อำเภอสามพราน) ซึ่งทั้งสี่ตำบลตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 และมีพื้นที่บางส่วนรับมาจากอำเภอกระทุ่มแบน คือ ตำบลดำเนินสะดวก[8] และพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอเมืองสมุทรสาคร
- วันที่ 8 พฤศจิกายน 2468 ย้ายอำเภอบ้านบ่อมาตั้งที่หมู่บ้านแพ้ว รวมพื้นที่ตำบลดอนไผ่ ตำบลบ้านแพ้ว ตำบลเจ็ดริ้ว ตำบลคลองตัน จากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตำบลอำแพง อำเภอเมืองสมุทรสาคร กับตำบลดำเนินสะดวก (ตำบลสวนส้ม) อำเภอกระทุ่มแบน รวมเข้ากับตำบลหลักสามและตำบลโรงเข้ ของอำเภอบ้านบ่อ (อำเภอเมืองสมุทรสาคร) จัดตั้งเป็น อำเภอบ้านแพ้ว[9]
- วันที่ 6 ธันวาคม 2468 เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว โดยโอนพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอเมืองสมุทรสาคร และตำบลดำเนินสะดวก อำเภอกระทุ่มแบน มาขึ้นกับอำเภอบ้านแพ้ว[10]
- วันที่ 10 ธันวาคม 2485 ยุบจังหวัดสมุทรสาคร รวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี[11] เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอบ้านแพ้วจึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี
- วันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ตั้งจังหวัดสมุทรสาครขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[12] จึงทำให้อำเภอบ้านแพ้วกลับมาขึ้นกับจังหวัดสมุทรสาครเหมือนเดิม
- วันที่ 17 กันยายน 2498 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านแพ้ว ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านแพ้ว และตำบลหลักสาม[13]
- วันที่ 3 สิงหาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลหลักห้า ในท้องที่บางส่วนของตำบลดอนไผ่ ตำบลโรงเข้ และตำบลหลักสาม[14][15]
- วันที 16 ธันวาคม 2501 ตั้งตำบลยกกระบัตร แยกออกจากตำบลโรงเข้และตำบลหลักสาม[16]
- วันที่ 25 มกราคม 2509 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลหลักห้า[17] เพื่อความเหมาะสมในการบริหารกิจการและการทะนุบำรุงท้องถิ่น โดยขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลดอนไผ่ ตำบลโรงเข้ ตำบลยกกระบัตร
- วันที่ 29 ตุลาคม 2511 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลดำเนินสะดวก อำเภอบ้านแพ้ว เป็น ตำบลสวนส้ม[18]
- วันที่ 11 เมษายน 2515 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลดอนไผ่ อำเภอบ้านแพ้ว เป็น ตำบลหนองสองห้อง[19]
- วันที่ 12 พฤษภาคม 2517 จัดตั้งสภาตำบลบ้านแพ้ว (เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาลบ้านแพ้ว) สภาตำบลเจ็ดริ้ว สภาตำบลคลองตัน สภาตำบลสวนส้ม และสภาตำบลหลักสาม (เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาลบ้านแพ้ว)[20]
- วันที่ 5 กรกฎาคม 2517 ตั้งตำบลหนองบัว โดยแยกออกจากตำบลหนองสองห้อง[21]
- วันที่ 10 สิงหาคม 2519 ตั้งตำบลหลักสอง โดยแยกออกจากตำบลเจ็ดริ้ว[22] และจัดตั้งสภาตำบลหลักสอง
- วันที่ 20 กรกฎาคม 2525 ตั้งตำบลเกษตรพัฒนา โดยแยกออกจากตำบลคลองตัน[23] และจัดตั้งสภาตำบลเกษตรพัฒนา
- วันที่ 5 พฤษภาคม 2537 จัดตั้งสุขาภิบาลเกษตรพัฒนา ในท้องที่บางส่วนของหมู่ 5 ตำบลคลองตัน และหมู่ 2,3 ตำบลเกษตรพัฒนา[24]
- วันที่ 3 มีนาคม 2538 ยกฐานะจากสภาตำบลหลักสาม (เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาลบ้านแพ้ว) เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหลักสาม[25]
- วันที่ 25 ธันวาคม 2539 ยกฐานะจากสภาตำบลบ้านแพ้ว (เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาลบ้านแพ้ว) สภาตำบลอำแพง สภาตำบลสวนส้ม สภาตำบลเจ็ดริ้ว สภาตำบลเกษตรพัฒนา สภาตำบลคลองตัน และสภาตำบลหลักสอง เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ้ว องค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง องค์การบริหารส่วนตำบลสวนส้ม องค์การบริหารส่วนตำบลเจ็ดริ้ว องค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรพัฒนา องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตัน และองค์การบริหารส่วนตำบลหลักสอง[26] ตามลำดับ
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านแพ้ว สุขาภิบาลหลักห้า และสุขาภิบาลเกษตรพัฒนา เป็นเทศบาลตำบลบ้านแพ้ว เทศบาลตำบลหลักห้า และเทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา ตามลำดับ[27] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 15 กันยายน 2547 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรพัฒนา รวมกับเทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา[28]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]
อำเภอบ้านแพ้วแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 12 ตำบล 97 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[29] |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|
1. | บ้านแพ้ว | Ban Phaeo |
10,345
|
![]() |
2. | หลักสาม | Lak Sam |
16,895
|
|
3. | ยกกระบัตร | Yokkrabat |
14,805
|
|
4. | โรงเข้ | Rong Khe |
12,173
|
|
5. | หนองสองห้อง | Nong Song Hong |
8,456
|
|
6. | หนองบัว | Nong Bua |
6,711
|
|
7. | หลักสอง | Lak Song |
4,565
|
|
8. | เจ็ดริ้ว | Chet Rio |
4,016
|
|
9. | คลองตัน | Khlong Tan |
5,478
|
|
10. | อำแพง | Amphaeng |
7,143
|
|
11. | สวนส้ม | Suan Som |
5,206
|
|
12. | เกษตรพัฒนา | Kaset Phatthana |
5,070
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]
ท้องที่อำเภอบ้านแพ้วประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลบ้านแพ้ว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านแพ้วและตำบลหลักสาม
- เทศบาลตำบลหลักห้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยกกระบัตร ตำบลโรงเข้ ตำบลหนองสองห้อง และตำบลหนองบัวทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกษตรพัฒนาทั้งตำบลและบางส่วนของตำบลคลองตัน
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแพ้ว (นอกเขตเทศบาลตำบลบ้านแพ้ว)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหลักสาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลักสาม (นอกเขตเทศบาลตำบลบ้านแพ้ว)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหลักสอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลักสองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเจ็ดริ้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเจ็ดริ้วทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองตัน (นอกเขตเทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา)
- องค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอำแพงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสวนส้ม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสวนส้มทั้งตำบล